Posted on Leave a comment

อันตรายที่แท้จริงในผักไฮโดรโปนิกส์คืออะไร ?

Food photo created by DCStudio – www.freepik.com

เมื่อพูดถึงอันตรายจากผักไฮโดรโปนิกส์ หลายท่านก็คงจะนึกถึงอันตรายจากสารเคมี โดยผู้เขียนจะขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือสารเคมีที่เป็นสารอาหารของพืช กลุ่มที่สองคือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และกลุ่มที่สามคือสารเคมีที่ไม่เกี่ยวกับการปลูกพืชเลย ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้พูดถึงสารเคมีกลุ่มแรกที่เป็นสารอาหารของพืชไปแล้วว่า ทั้งพืชที่ปลูกด้วยดิน และไม่ใช้ดิน(ไฮโดรโปนิกส์)จะได้รับสารอาหารในรูปของสารเคมีที่เป็นสารอาหารในรูปแบบเดียวกัน และได้นำเสนอข้อชี้แจงจากกรมการแพทย์แล้วว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าการสะสมของสารอาหาร เช่น ไนเตรต นั้นเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งได้ ซึ่งทำให้สบายใจไปได้กลุ่มหนึ่ง แต่อีกสองกลุ่มที่เหลือนั้นเป็นอันตรายแน่ ๆ และในบทความนี้จะพูดถึงสารเคมีทั้งสองกลุ่มนี้ว่าเกี่ยวกับผักไฮโดรโปนิกส์อย่างไร และจะหลีกเลี่ยงอันตรายได้อย่างไร

Infographic vector created by macrovector – www.freepik.com

เริ่มด้วยกลุ่มสารเคมีกำจัดศัตรูพืช  แม้ว่าพืชที่ปลูกแบบไม่ใช้ดินจะไม่ต้องใช้สารกำจัดวัชพืช เพราะโอกาสที่จะมีวัชพืชเข้ามาในระบบนั้นมีน้อย และถึงมีก็หยิบออกง่ายกว่าการใช้ยามาก แต่ก็ยังอาจต้องใช้สารกำจัดแมลง(ยาฆ่าแมลง) เพราะในบางโรงเรือน โดยเฉพาะที่เป็นโรงเรือนแบบเปิด ก็มักจะมีแมลงรบกวนไม่ต่างจากการปลูกด้วยดิน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเกษตรกรต้องใช้ยากำจัดหรือไล่แมลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดสารตกค้างได้ และถ้าระยะเวลาเก็บเกี่ยวไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวก่อนเวลา ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็ตาม นั่นเป็นสาเหตุให้อาจมีสารกำจัดแมลงตกค้างที่ต้นหรือใบพืชได้ นอกจากนี้ ถ้าระบบไม่ดีพอ อาจจะเกิดการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงนี้ลงไปในสารละลายที่ใช้ปลูกพืชได้ และพืชอาจจะดูดซึมสารอันตรายเหล่านั้นเข้าไป ซึ่งทำให้การล้างผักไม่ได้ผล แต่ไม่อยากให้กลัวพืชไฮโดรโปนิกส์มากกว่าพืชที่ปลูกด้วยดินนะครับ เพราะพืชที่ปลูกด้วยดินก็มีโอกาสพบปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสารตกค้างเหล่านี้ เราอาจจะต้องซื้อผักจากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือได้มาตรฐานจากหน่วยงานที่ไว้ใจได้ และนำมาล้างให้ดีก่อนนำมารับประทานไม่ต่างจากที่ปลูกด้วยดิน หรือดีกว่าคือปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไว้รับประทานเอง

Ecological disasters flat images set with air water pollution hazardous waste related health problems isolated vector illustration

Car vector created by macrovector – www.freepik.com

สำหรับสารเคมีกลุ่มที่สาม คือสารเคมีที่ไม่เกี่ยวกับการปลูกพืชเลยแต่เป็นอันตราย และมีโอกาสปนเปื้อนในวัสดุปลูก น้ำ หรือสารละลาย แล้วพืชก็ดูดซับมาสะสมไว้ในต้นพืชก่อนมาถึงมือเรา ซึ่งแหล่งที่มาของสารอันตรายประเภทนี้มักจะมาจากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งทิ้งขยะที่มีการจัดการไม่ดีพอ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในดิน หรือแหล่งน้ำ โชคดีที่การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน(ไฮโดรโปนิกส์) ไม่ต้องใช้ดินจึงลดโอกาสได้รับสารพิษปนเปื้อนจากดิน แต่ก็ยังต้องระวังการปนเปื้อนในวัสดุปลูก สารอาหาร และน้ำที่นำมาใช้ การหลีกเลี่ยงก็เป็นลักษณะเดียวกันกับก่อนหน้านี้คือ ซื้อจากแหล่งที่ไว้ใจได้ ได้มาตรฐาน และล้างให้สะอาด แม้การล้างอาจจะไม่ช่วยมากนักเพราะการปนเปื้อนลักษณะนี้มักเป็นการสะสมภายในต้นพืชซึ่งไม่สามารถล้างออกได้ หรือสุดท้ายคือปลูกเอง โดยใช้วัสดุปลูก สารอาหาร และแหล่งน้ำจากแหล่งที่ไว้ใจได้

ผักสลัดริมระเบียง

สรุปว่าอันตรายจากผักไฮโดรโปนิกส์ แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากสารเคมีที่เป็นอาหารที่ใช้ปลูกผักอย่างที่หลายคนเป็นกังวล แต่มาจากสารเคมีที่เป็นยากำจัดแมลง และสารเคมีที่เป็นอันตรายจากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการกำจัดของเสียไม่ได้มาตรฐาน หรือแหล่งทิ้งขยะ แต่ก็ไม่ควรเป็นกังวลมากเกินไป เราหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเหล่านี้ได้จากการซื้อผักจากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือได้มาตรฐานต่าง ๆ ที่เราไว้ใจ แล้วล้างให้ดีเสมือนว่ามีสารพิษตกค้างอยู่ที่ผักไม่ว่าผักจะมาจากแหล่งใดก็ตาม หรือปลูกทานเองซะเลยน่าจะปลอดภัยที่สุดใช่ไหมล่ะครับ สำหรับเรื่องนี้ขอจบเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ

ใส่ความเห็น