Posted on Leave a comment

Bootloader คืออะไร

BootLoader คือส่วนหนึ่งของ Firmware ที่ช่วยในการติดตั้ง Firmware ใหม่ให้กับ microcontroller ซึ่งถ้าไม่มี Bootloader เราก็ต้องติดตั้ง Firmware ลงใน microcontroller ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า programmer 

โดยขั้นตอนการทำงานของ Bootloader ก็คือ เมื่อจ่ายไฟให้กับ microcontroller มันก็จะเริ่มกำหนดค่า (config) ต่าง ๆ ให้ตัว microcontroller พร้อมทำงาน เช่น กำหนดความเร็วสัญญาณนาฬิกา กำหนด watchdog กำหนดความเร็วในการสื่อสารทาง serial port (baud rate) เป็นต้น หลังจากนั้นก็จะตรวจสอบว่าจะมีการส่ง Firmware ใหม่มาจาก computer หรือไม่ ถ้ามีก็รับ Firmware ใหม่มาติดตั้ง แล้วทำงานตาม Firmare ใหม่ หรือถ้าไม่มีก็จะทำงานตาม Firmware ที่ติดตั้งอยู่เดิม

Ref: //docs.arduino.cc/hacking/software/Bootloader

Posted on Leave a comment

Arduino Nano คืออะไร

หลังจากทำความรู้จัก Microcontroller น่าสนใจ ATmega328 กันไปแล้ว คราวนี้เราจะมาดูตัวอย่างการนำมาใช้งานกันบ้าง อย่างที่อาจรู้กันมาก่อนหน้านี้แล้วว่า microcontroller เป็น chip ตัวหนึ่ง มีขามากมาย แต่มันยังใช้ไม่ได้ ต้องนำมาต่อร่วมกับอุปกรณ์อย่างอื่น เพื่อช่วยกันทำงาน ในที่นี้จะยกตัวอย่างการนำมาใช้งานในการทำบอร์ดที่ใช้ในการพัฒนา (Development Board) หรือ บอร์ดควบคุม (Controller Board) โดย Development Board ที่ได้รับความนิยมมากตัวหนึ่งคือ Arduino Nano ซึ่งพัฒนาโดย บริษัท Arduino ประเทศอิตาลี แล้วที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็น่าจะเป็นเพราะ เค้าทำเป็น Open Hardware คือเปิดเผยรายละเอียดในการทำ Board นี้ และยอมให้คนอื่นทำตามได้ จึงมีหลายบริษัททำตามโดยพยายามทำให้ต้นทุนต่ำออกมามากมาย (Arduino Nano Clone) ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น และมีการทำอุปกรณ์มารองรับกับ Arduino Nano ออกมามากมาย ทำให้มีตัวอย่างให้เรียนรู้มากมายใน internet โดยการที่เค้าทำแบบนี้ก็เป็นความตั้งใจที่จะให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่าย ซึ่งก็ต้องชื่นชมแนวคิดนี้อย่างมาก ทำให้ประชากรโลกที่มีรายได้ไม่มาก มีโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ใครที่อยากใช้ Arduino Nano Clone จากแหล่งผลิตที่เราเข้าถึงได้ ก็ไม่ต้องตะขิดตะขวงใจว่าเราจะไปสนับสนุนใครให้ละเมิดใครหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม หากใครมีกำลังพอก็อยากให้ช่วยสนับสนุนสินค้าของ Arduino กันด้วยนะครับ จะได้เป็นกำลังให้กับบริษัทดี ๆ ช่วยกันทำงานเพื่อสังคมต่อไป

เรามาดูกันว่า บอร์ด Arduino Nano นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง

รูปด้านบน(ซ้าย) และรูปด้านล่าง(ขวา) ของ Arduino Nano

จากรูปจะเห็นว่าบนบอร์ดนั้นมีอุปกรณ์อยู่หลายตัวโดยขอแนะนำตัวสำคัญ ๆ ดังนี้

อุปกรณ์ที่อยู่ด้านบนของบอร์ด Arduino Nano เรียงจากบนลงล่าง

  • USB (micro) Port เชื่อมต่อกับ computer หรือแหล่งจ่ายไฟให้กับ board
  • ATmega328 นี่คือ microcontroller ที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้นี่เอง
  • Crystal ทำหน้าที่กำเนิดสัญญาณให้ microcontroller ทำงานได้ตามจังหวะของสัญญาณ
  • Switch ทำหน้าที่ reset ตัว microcontroller
  • LED แสดงสถานการณ์ทำงาน เรียงจากซ้ายไปขวา
    • L: เมื่อมีการใช้งานขา D13 ของ Board
    • ON: เมื่อมีไฟจ่ายให้กับ microcontroller 
    • Rx: เมื่อมีการใช้งานขา Rx (D0) ของ Board ซึ่งเป็นขารับข้อมูลของ UART 
    • Tx: เมื่อมีการใช้งานขา Tx (D1) ของ Board ซึ่งเป็นขาส่งข้อมูลของ UART
  • ICSP (In Circuit Serial Programmer) ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับเครื่อง Programmer สำหรับการโปรแกรม microcontroller (ในกรณีที่ไม่ใช้ หรือไม่มี Bootloader)

อุปกรณ์ที่อยู่ด้านล่างของบอร์ด Arduino Nano เรียงจากบนลงล่าง

  • USB to UART ทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณกลับไปมาระหว่าง USB (ซึ่งเป็นสัญญาณมาจาก computer) และ UART(ซึ่งเป็นสัญญาณจาก microcontroller) ทำให้ computer และ microcontroller สามารถสื่อสารกันได้
  • Voltage Regulator ทำหน้าที่แปลงไฟที่ส่งเข้ามาที่ขา Vin ของ board ให้เป็น 5V ก่อนที่จะส่งให้ microcontroller และอุปกรณ์อื่น ๆ

ส่วนตัวเล็ก ๆ อื่น ๆ จะเป็นตัวความต้านทานหรือตัวเก็บประจุซึ่งช่วยให้อุปกรณ์ที่กล่าวมาข้างต้นทำงานร่วมกันได้นั่นเอง

นอกจาก hardware ที่มองเห็นและจับต้องได้แล้ว Arduino Nano ยังมาพร้อมกับ Bootloader ที่ช่วยให้เราโปรแกรม ATmega328 โดยใช้แค่สาย USB เพื่อความสะดวกอีกด้วย

และทั้งหมดนี้ก็คือส่วนประกอบของ controller board ซึ่ง controller หรือ development board ทั่ว ๆ ไปก็จะมีองค์ประกอบพื้นฐานดังที่กล่าวมา หรืออาจน้อยกว่านี้ได้บ้างในกรณีที่ microcontroller บางตัวได้ใส่ความสามารถเหล่านี้รวมเข้าไปอยู่ในตัวของมัน เช่น microcontroller บางตัวก็รวมตัวกำเนิดสัญญาณนาฬิกาเข้าไว้ในตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ crystal หรือตัวกำเนิดสัญญาณภายนอก หรือ microcontroller บางตัวได้รวมตัวแปลงสัญญาณ USB ไว้ในตัวแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องต่อภายนอกอีก 

หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ไอเดียว่ามีอะไรอยู่บน Development board บ้าง ลองสังเกต Development board อื่นๆ ดูนะครับว่ามีอะไรบ้าง เหมือนหรือแตกต่างจากตัวนี้อย่างไรบ้าง

Posted on Leave a comment

Microcontroller น่าสนใจ ATmega328P

เราได้รู้จักไมโครคอนโทรลเลอร์ (microcontroller) ในแบบ concept มันมาพอสมควรแล้วจากเรื่อง Microcontroller คืออะไร?โครงสร้างของ microcontroller เป็นอย่างไร? และ Microcontroller ทำงานอย่างไร? คราวนี้เราลองมาทำความรู้จักกับ microcontroller ตัวเป็น ๆ กันดู โดยเรามาเริ่มที่ ATmega328P 

ทำไมเราควรเริ่มที่ตัวนี้ นั่นก็เพราะ microcontroller ตัวนี้ไม่ซับซ้อนมากนัก และเป็นที่นิยมมาช้านาน และถูกนำไปใช้บนบอร์ดที่ได้รับความนิยมมาก ก็คือ Arduino UNO และ Arduino Nano จึงมีตัวอย่างใน internet ให้เรียนรู้มากมาย และมีหลายบริษัทที่นำ microcontroller ตัวนี้มาทำบอร์ดควบคุมที่เข้ากันได้กับ Arduino Nano อยู่มากมายเช่นกัน ทำให้ราคาไม่สูงมากนัก เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเรียนรู้และทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง

Block Diagram แสดงส่วนประกอบต่าง ๆ ของ microcontroller ATmega328P
ที่มา ATmega328P datasheet

จาก Block Diagram ในเอกสาร datasheet ของ ATmega328P จะเห็นว่ามีส่วนประกอบคล้าย ๆ กับที่เคยนำเสนอไปแล้วใน โครงสร้างของ microcontroller เป็นอย่างไร? แต่จะมีหลายส่วนเพิ่มเข้ามา เพื่อทำให้ ATmega328P มีความสามารถมากขึ้น เช่น 

  1. มีการสื่อสารแบบ SPI, TWI(I2C) เพิ่มขึ้นจาก UART ซึ่งเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทำให้สื่อสารกับอุปกรณ์สมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็น sensor หรือ display หรืออื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
  2. มี A/D converter ทำให้ติดต่อกับ อุปกรณ์ที่เป็น analog ได้ง่ายขึ้น
  3. มี Timer/Counter ซึ่งสามารถสร้าง สัญญาณ PWM ที่มักจะใช้ในการควบคุมความเร็วของ dc motor หรือ ความสว่างของ LED ได้ง่ายขึ้น
  4. มี Watchdog ที่ช่วยให้การทำงานของ microcontroller มีความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น 

เพียงเท่านี้ก็พอจะนึกภาพออกแล้วใช่ไหมล่ะครับว่า ATmega328P นั้นสามารถนำไปใช้ในงานควบคุมได้หลากหลายมาก และสามารถรองรับความอยากรู้อยากเห็นของมือใหม่ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้มือเก๋าที่ต้องทำระบบที่ซับซ้อนก็ยังอาจจะแบ่งระบบออกเป็นระบบย่อยแล้วใช้เจ้าตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ช่วยดูแลระบบย่อยแล้วรายงานผลไปยังศูนย์กลางเพื่อลดภาระงานของศูนย์กลางของระบบได้ดีอีกด้วย ส่วนการทำงานในแต่ละส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น เราจะค่อย ๆ เรียนรู้กันในโอกาสต่อ ๆ ไปนะครับ

Posted on Leave a comment

Microcontroller ทำงานอย่างไร ?

จากเรื่อง Microcontroller คืออะไร? และ โครงสร้างของ microcontroller เป็นอย่างไร? เราได้รู้คร่าว ๆ แล้วว่าคืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง คราวนี้เราจะมาดูกันว่า หลักการของ microcontroller เป็นอย่างไร

หลักการทำงานของ microcontroller นั้น จริง ๆ แล้วเรียบง่ายมาก ก็คือ เมื่อจ่ายไฟให้กับ microcontroller ตัว microcontroller จะเริ่มทำงานตามโปรแกรมที่เรา(หรือใครสักคน)กำหนดไว้ในส่วนของ program memory และจะทำงานเรียงไปทีละคำสั่งไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดโปรแกรม การทำงานก็จะหยุดลง และไม่ทำอะไรอีกจนกว่าจะเอาไฟออก แล้วจ่ายไฟเข้าไปใหม่ หรือกดปุ่ม reset (ถ้ามี) microcontroller ก็จะเริ่มทำงานตามโปรแกรมตั้งแต่ต้นอีกครั้งแล้วก็จะหยุดนิ่งเมื่อคำสั่งในโปรแกรมหมดลงเหมือนเดิม นี่คือหลักการทำงานของตัว microcontroller จริง ๆ แต่ในทางปฏิบัติ แทบจะไม่มีงานไหนเลยที่เราอยากให้ microcontroller ทำจนเสร็จแล้วหยุด หรือถ้าอยากให้มันทำงานอีกครั้งก็ไปกด reset เอา ดังนั้น คนเขียนโปรแกรม ก็ต้องเขียนโปรแกรมให้เมื่อ microcontroller ทำงานตามโปรแกรมเสร็จรอบหนึ่งแล้ว ก็กลับไปทำอีกครั้งโดยอัตโนมัติ โดยจะให้เริ่มทำอีกครั้งตั้งแต่เริ่มต้นเลย หรือให้ทำอีกครั้งแค่บางส่วนก็แล้วแต่กำหนด แล้วให้ทำอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ เราก็จะได้ไม่ต้องมาคอยกด reset อยู่เรื่อย ๆ นั่นเอง

เปรียบเทียบการกำหนดโปรแกรมให้ microcontroller ทำงาน ภาพซ้าย microcontroller ทำงานตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ แล้วหยุด ภาพขวา microcontroller ทำงานในส่วนของ loop วนไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันหยุด

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ก็จะมีบางงานที่เราอยากให้ทำครั้งเดียวก็พอ ไม่ต้องทำอีก (มักจะเป็นเรื่องของการตั้งค่าต่าง ๆ) บางงานเราอยากให้ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ คนเขียนโปรแกรม ก็ต้องแบ่งโปรแกรมออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ทำครั้งเดียวแล้วไม่ต้องทำอีก เรียกว่า initial หรือ setup อีกส่วนให้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ คือ loop

หวังว่าผู้อ่านจะได้ภาพในใจกันพอสมควรแล้วนะครับว่า microcontroller ทำงานอย่างไร และเราควรจะโปรแกรมมันอย่างไร

Posted on Leave a comment

โครงสร้างของ microcontroller เป็นอย่างไร ?

จากเรื่อง Microcontroller คืออะไร? เราได้รู้คร่าว ๆ แล้วว่า มันคืออะไร อยู่ในอุปกรณ์ประเภทไหนบ้าง สำหรับคนที่สนใจใคร่รู้ เราจะมาดูเพิ่มเติมกันว่า โครงสร้างเป็นอย่างไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง

เพื่อให้ microcontroller ทำงานเป็นตัวควบคุมได้ โดยทั่วไปก็จะต้องมีส่วนประกอบอย่างน้อยต่อไปนี้

โครงสร้ง microcontroller ที่แสดงถึง CPU, RAM, Flash, Port IO, Clock, UART
  1. หน่วยประมวลผล (CPU: Central Processing Unit) ทำหน้าที่ในการจัดการข้อมูลตามโปรแกรมที่กำหนดไว้
  2. หน่วยความจำสำหรับประมวลผลข้อมูล (Data Memory) ทำหน้าที่พักข้อมูลที่ใช้ระหว่างการประมวลผล เช่น RAM
  3. หน่วยความจำสำหรับโปรแกรม ( Program Memory) ทำหน้าที่เก็บโปรแกรมที่เราเขียนไว้ให้ CPU ทำงาน เช่น Flash Memory
  4. หน่วยจัดการข้อมูลเข้าและออก (Input Output Ports) ทำหน้าที่จัดการข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามาจากภายนอก และข้อมูลเพื่อส่งออกภายนอก
  5. หน่วยจัดการด้านสื่อสาร (Communication) ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานในการสื่อสารที่กำหนด เช่น UART, USB, I2C เป็นต้น
  6. ตัวกำหนดสัญญาณนาฬิกา (Clock Generator) ทำหน้าที่ส่งสัญญาณเป็นจังหวะเพื่อให้อุปกรณ์แต่ละตัวทำงานสอดคล้องกันอย่างลงตัว เหมือนเครื่องกำหนดจังหวะในการเล่นดนตรีนั่นเอง

นี่เป็นเพียงโครงสร้างง่าย ๆ ของ microcontroller ซึ่งบางตัวอาจมีส่วนประกอบมากกว่านี้ เพื่อให้มีความสามารถมากขึ้น นอกจากนี้ microcontroller ยังถูกแบ่งย่อยออกตามลักษณะการทำงานแต่ละส่วนได้อีกเช่น CISC กับ RISC หรือ Harvard กับ Von Neumann หรือ AVR กับ ARM หรือ 8-bit, 16-bit, 32-bit หรืออื่น ๆ

หวังว่าผู้อ่านจะมีภาพในใจชัดเจนขึ้นนะครับว่าโครงสร้าง microcontroller นั้นเป็นอย่างไร

Posted on Leave a comment

Microcontroller คืออะไร ?

บอร์ดควบคุมที่ใช้ microcontroller เบอร์ ATMega4809

Microcontroller ตามที่ชื่อบอกเลยครับ คือเป็นตัวควบคุมขนาดเล็ก การทำงานหลัก ๆ คือ รับข้อมูล (Input) จากอุปกรณ์อื่น ไม่ว่าจะเป็น sensor หรือ microcontroller ตัวอื่น แล้วนำข้อมูลมาประมวลผลนิดหน่อย แล้วส่งผลที่ได้ (output) ไปควบคุมอุปกรณ์ตัวอื่น ๆ เช่น ส่ง PWM ควบคุมความเร็ว motor, ส่งสัญญาณเพื่อควบคุมการเปิดปิด LED หรือ ส่งข้อมูลเพื่อแสดงทาง display เป็นต้น ที่บอกว่ามีการประมวลผล”นิดหน่อย”ก็เพราะว่า โดยทั่วไปแล้วตัว microcontroller ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อประมวลผลที่ซับซ้อนมาก ๆ ถ้าจะต้องมีการประมวลผลมาก ๆ มักจะเป็นหน้าที่ของ microprocessor มากกว่า ซึ่งเราจะพบ microprocessor ได้ใน computer ทั้งที่เป็น desktop และ notebook ต่างๆ ส่วน microcontroller เราจะพบได้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีการทำงานอัตโนมัติ แต่ไม่ซับซ้อนมากนัก เช่น ตู้เย็น แอร์ หม้อหุงข้าว(แบบตั้งโปรแกรมได้) เป็นต้น หรือถ้าเป็นระบบที่มีทั้งการควบคุมและการประมวลผลที่ซับซ้อนก็จะมีทั้ง microprocessor และ microcontroller หลายตัวทำงานร่วมกัน เช่น รถยนต์ เครื่องบิน เป็นต้น

หวังว่าผู้อ่านคงมีภาพในใจมากขึ้นว่า microcontroller คืออะไร แตกต่างจาก microprocessor อย่างไร

Posted on Leave a comment

การปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ ที่บ้าน

ผักสลัดวันที่ 32

เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่เริ่มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือคิดอยากจะปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากการปลูกผักสลัดเป็นอันดับแรก เพราะเป็นผักที่ปลูกง่าย ทานง่าย และมักจะทานสด ดังนั้นจึงต้องการให้ปลอดสารเคมี และการปลูกเองก็ช่วยให้สบายใจได้ว่า ผักจะปลอดจากสารเคมีที่เป็นอันตราย ดังนั้น คราวนี้ผมขอเสนอวิธีปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ แบบหนึ่ง นั่นคือแบบน้ำนิ่ง(Kratky method)

วิธีนี้เหมาะกับมือใหม่มาก ๆ เนื่องจากใช้อุปกรณ์น้อย ไม่เปลืองพื้นที่ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าด้วย อุปกรณ์ก็มีดังนี้ สารละลายสำหรับปลูกพืช(สารละลายAB) กล่องปลูก ตะกร้าสำหรับปลูก ฟองน้ำหรืออุปกรณ์ที่ใช้แทนฟองน้ำ หรือจะซื้อชุดสำเร็จรูปดังภาพ

hydroponics set A
ชุดปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ 8 ช่องปลูก แบบ A

ขั้นตอนการปลูก

  1. เพาะเมล็ด

    นำเมล็ดไปแช่น้ำ 1 วัน ก็จะเริ่มมีรากงอกออกมาผักสลัดวันที่ 1

  2. ใส่ลงฟองน้ำ

    นำเมล็ดที่งอกแล้วใส่ลงในฟองน้ำอย่างระมัดระวัง โดยให้เมล็ดจมลงไปในรอยบากไม่เกิน 1 มิลลิเมตร เพราะถ้าใส่ลึกเกินไปอาจทำให้เมล็ดงอกยากและอาจเน่าไปซะก่อนผักสลัดวันที่ 3

  3. ใส่ลงกล่องปลูก

    นำฟองน้ำที่มีเมล็ดที่งอกแล้วใส่ตะกร้า แล้วใส่กล่องปลูก แล้วเติมสารละลายสำหรับปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ (สารละลาย AB) โดยผสมน้ำตามอัตราส่วนที่เหมาะสมตามฉลาก แล้วเติมให้ถึงฟองน้ำ ระวังอย่าให้ฟองน้ำแห้งผักสลัดวันที่ 4

  4. ตกแต่งให้สวยงาม

    ช่วง 2 สัปดาห์แรก ผักยังเล็กมาก กินน้ำน้อย ยังไม่ต้องดูแลอะไร ขอแค่ไม่มีนก หรือสัตว์รบกวนเท่านั้นเอง ระหว่างนี้อาจจะหาอะไรมาตกแต่งให้น่ารักสวยงามก็เพลินดีผักสลัดวันที่ 10

  5. ตรวจระดับสารละลายในกล่อง

    หลังจาก 2 สัปดาห์ ให้ลองตรวจดูระดับสารละลาย ว่าน้อยเกินไปหรือไม่ (ไม่ควรต่ำกว่าครึ่งกล่อง) เพราะรากอาจดูดน้ำไม่ทัน ซึ่งถ้าน้อยเกินไปก็เติมน้ำเปล่าเข้าไปประมาณ 80% ของกล่อง ไม่ใส่จนเต็ม เนื่องจากรากยังต้องการอากาศสำหรับหายใจด้วย ไม่อย่างนั้นรากอาจจะเน่าได้ผักสลัดวันที่ 14

  6. เติมสารละลายสลับกับน้ำเปล่า

    หลังจาก 3 สัปดาห์ ผักต้นใหญ่ขึ้น รากมากขึ้น ดูดน้ำเร็วขึ้น ช่วงนี้อาจจะต้องตรวจดูปริมาณสารละลายในกล่องทุกวัน แล้วเติมสารละลายสลับกับน้ำเปล่า เนื่องจากช่วงนี้ผักจะโตเร็ว ต้องการสารอาหารมากผักสลัดวันที่ 21

  7. เตรียมเก็บเกี่ยว

    เมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ ผักก็มีขนาดใหญ่ พอให้รับประทานได้แล้ว ก็ให้เทสารละลายในกล่องออก แล้วใส่น้ำเปล่าแทน แล้วรอประมาณ 3 วัน เพื่อให้ผักนำสารอาหารที่สะสมไว้ เช่น ไนเตรต ไปใช้ให้เหลือน้อยก่อน แล้วจึงเก็บมารับประทาน สำหรับท่านที่คิดว่าผักยังเล็กอยู่ อาจจะเพราะได้รับแสงน้อย ก็ยังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ ให้เติมน้ำเปล่าไปก่อน พอได้ขนาดที่ต้องการแล้วจึงเปลี่ยนน้ำผักสลัดวันที่ 28

  8. เก็บเกี่ยว

    เมื่อเปลี่ยนน้ำได้ 3 วันแล้ว ก็เก็บมารับประทานได้อย่างสบายใจ ไร้ยาฆ่าแมลง หรือแม้จะเป็นไนเตรตก็น่าจะเหลือน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ของทางยุโรปแล้ว (เนื่องจาก ณ วันที่เขียนนี้ บ้านเรายังไม่มีเกณฑ์เรื่องนี้) อย่างไรก็ตาม เราได้ลองนำผักที่ปลูกตามวิธีที่นำเสนอนี้ไปตรวจปริมาณไนเตรตตกค้าง พบว่าเหลือน้อยกว่าเกณฑ์ทางยุโรป ติดตามรายละเอียดได้ในโพสต์ต่อไปผักสลัดวันที่ 32

ขั้นตอนที่ได้อธิบายไปนั้น เป็นขั้นตอนแบบคร่าว ๆ อาจไม่ต้องทำตามนั้นเป๊ะ ๆ แต่อยากให้เข้าใจว่า ในแต่ละขั้นตอนนั้นทำเพื่ออะไร มีความสำคัญอย่างไร แล้วท่านสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของท่าน และขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกผักรับประทานเองที่บ้านนะครับ

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการปลูกผักสลัด
– ผักสลัดต้องการแสงมาก เป็นเวลานาน 12 ชั่วโมง
– ผักสลัดชอบอากาศเย็นประมาณ 25 องศาเซลเซียส
ดังนั้น ควรวางผักสลัดไว้ในที่แสงสว่างมาก ได้รับแสงทั้งวัน แต่ไม่ร้อนจนผักเหี่ยว ถ้าแสงไม่พอผักสลัดจะยืดสูงทำให้ไม่ค่อยสวย และถ้าปล่อยให้ร้อนจนเหี่ยว อาจทำให้การเติบโตไม่ค่อยดี และอาจมีรสขม
วิธีแก้
สำหรับบ้านที่แสงแดดไม่พอ อาจใช้วิธีเปิดไฟเสริมให้ผักสลัดในช่วงที่แสงแดดน้อยก็ได้ ควรเป็นแสงขาว 6500K 25W หรือใครที่หลีกเลี่ยงสภาพแสงน้อยหรืออากาศร้อนได้ยากจริง ๆ อย่างน้อย 3 วันก่อนเก็บเกี่ยว ผักควรได้รับแสงพอเพียง แต่ไม่ร้อน เพื่อให้ผักมีสีสันสดในน่ารับประทาน และรสชาติดีขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไมผักที่ปลูกมีรสขม แล้วต้องทำอย่างไร?

Posted on Leave a comment

การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน หรือไฮโดรโปนิกส์

Infographic vector created by macrovector – www.freepik.com

การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินนั้น คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีก็คือ ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ในระบบไฮโดรโปนิกส์นี้ ยังมีชื่อเรียกหลากหลาย แบ่งย่อยไปตามเทคนิคต่าง ๆ มากมาย เรียกได้ว่าแล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์กันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งมวลล้วนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญเหมือน ๆ กัน ในตอนนี้เราจะมาทำความรู้จักพื้นฐานที่สำคัญเหล่านั้น และตัวอย่างเทคนิคการปลูกบางแบบกัน

โดยธรรมชาติพืชต้องการปัจจัย 4 อย่างนั่นคือ น้ำ อาหาร อากาศ และแสง โดยส่วนที่เป็นลำต้นและใบพืชนั้นต้องการ อากาศ และแสง ส่วนนี้มักไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเราสามารถให้ทั้งอากาศและแสงไปพร้อม ๆ กันได้ไม่ยากนัก ส่วนที่เป็นปัญหาคือส่วนที่เป็นรากพืช ซึ่งต้องการ น้ำ อาหาร และอากาศ ไปพร้อม ๆ กัน แล้วจะทำอย่างไรให้พืชได้ทั้งน้ำ อาหาร และอากาศไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นจึงได้มีผู้คิดค้นรูปแบบหรือเทคนิคการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแบบต่าง ๆ นานา เพื่อให้สะดวกและมีประสิทธิภาพ และเรียกชื่อตามเทคนิคเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น

การปลูกแบบ Deep water culture (DWC) วิธีนี้จะปลูกพืชแบบลอยน้ำ โดยให้รากของพืชทั้งหมดแช่อยู่ในน้ำที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำหรับพืชตลอดเวลา แล้วมีระบบปั๊มอากาศลงในน้ำ เพื่อให้พืชได้รับอากาศอย่างเพียงพอไปพร้อม ๆ กันด้วย

Deep water culture

การปลูกแบบ Nutrient film technique (NFT) วิธีนี้จะให้น้ำที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่พืชต้องการไหลผ่านรากพืชในลักษณะของฟิล์มบาง ๆ เพื่อให้อากาศละลายลงไปในน้ำและสัมผัสกับรากพืชได้ง่าย ทำให้รากพืชได้รับสารอาหารและอากาศอย่างเพียงพอ

Nutrient film technique

การปลูกแบบ Kratky method วิธีนี้จะคล้ายกับ DWC เพียงแต่ไม่ได้ปลูกในลักษณะลอยน้ำ รากพืชจึงไม่ได้แช่น้ำทั้งหมด ทำให้มีช่องอากาศบริเวณรากพืช ทำให้รากพืชได้รับสารอาหารจากน้ำที่อุดมไปด้วยอาหารของพืช และอากาศพร้อม ๆ กันอย่างเพียงพอ

Kratky Method

การปลูกแบบ Aeroponics วิธีนี้จะให้รากทั้งหมดลอยอยู่ในอากาศ แล้วพ่นน้ำที่อุดมไปด้วยสารอาหารของพืชไปยังรากของพืช พืชก็จะได้รับสารอาหารและอากาศ อย่างเพียงพอได้เหมือนกัน

Aeroponics

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของเทคนิคการให้ น้ำ อาหาร และอากาศ แก่รากเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการเรียกชื่อตามแหล่งที่มาของสารอาหารอีกด้วย เช่น

การปลูกแบบ Aquaponics วิธีนี้อาจจะใช้วิธีการให้สารอาหารแบบ NFT หรือ DWC หรืออื่น ๆ ก็ได้ เพียงแต่ แหล่งที่มาของสารอาหาร แทนที่จะเป็นการเตรียมขึ้นมาในห้องแลปแล้วใส่ลงในน้ำ แต่เป็นการนำน้ำจากบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งจะมีของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมา แล้วนำมาเป็นแหล่งสารอาหารสำหรับพืช 

Aquaponics

จากที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของวิธีที่มีการคิดค้นเพื่อปลูกต้นไม้แบบไม่ใช้ดิน แต่อย่างน้อยทุกท่านคงพอเข้าใจหลักการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินกันมากขึ้น และปรับใช้ให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมที่ท่านอยู่ได้เป็นอย่างดี ไม่แน่ว่า ท่านอาจจะคิดหาเทคนิคใหม่ ๆ ที่เหมาะกับบ้านของท่านในแบบที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนก็ได้ หวังว่าทุกท่านจะสนุกกับการปลูกพืชผักรับประทานเองที่บ้านกันนะครับ

Posted on Leave a comment

ทำไมผักที่ปลูกมีรสขม แล้วต้องทำอย่างไร?

ผักสลัดวันที่ 28

ผักที่ปลูกมีรสขมคงเป็นประสบการณ์ที่หลายท่านได้พบเจอกันมาบ้าง โดยเฉพาะมือใหม่ที่เพิ่งจะลองปลูกผักรับประทานเอง ด้วยรสขมที่ไม่น่ารับประทานนี้ ทำให้หลายท่านล้มเลิกความคิดที่จะปลูกผักทานเองไปอย่างรวดเร็ว ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงว่า ทำไมผักถึงขม แก้ไขได้หรือไม่ และถ้าแก้ไม่ได้จะทำอย่างไร

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมผักถึงขม ถ้าไม่นับผักที่ขมเพราะแก่ หรือเป็นชนิดที่มีรสขมอยู่แล้ว โดยทั่วไปก็เป็นเพราะว่า สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของผักนั่นเอง เช่น ปริมาณของแสงที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป อุณหภูมิที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป สารอาหารที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป การรบกวนของแมลง หรือจุลินทรีย์ และ อื่น ๆ อีกมาก ความไม่สมดุลของปัจจัยเหล่านี้ทำให้พืชต้องสร้างสารบางอย่างเพื่อที่จะลดผลกระทบที่ไม่ดีจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น และสารเหล่านั้นก็มักจะมีรสขม หรือบางทีก็ฝาด เช่น ถ้าพืชได้รับแสงที่เข้มเกินไป อาจจะทำให้ไหม้ได้ ดังนั้นพืชจะต้องสร้างสารเพื่อป้องกันแสงที่มากเกินไป โดยเฉพาะแสงUV หรือ บางครั้งมีจุลินทรีย์ในระบบปลูกรบกวนการเติบโตของพืช พืชก็อาจจะสร้างสารต้านจุลินทรีย์เหล่านั้น หรือบางที สภาวะแวดล้อมทำให้เกิดอนุมูลอิสระในพืช พืชก็สร้างสารต้านอนุมูลอิสระขึ้นมา ในหลาย ๆ กรณี สารเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ต่อพืชเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อมนุษย์ด้วย จึงมีการสกัดสารเหล่านี้จากพืชเพื่อมาทำยานั่นเอง อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เสมอไป แต่อย่างน้อย การที่เราได้ปลูกผักรับประทานเอง เราก็มั่นใจได้ว่าปลอดจากยาฆ่าแมลง  ซึ่งอันตรายกว่าสารขม ๆ มากมายนัก

สรุปว่าถ้าอยากจะปลูกพืชหรือผักให้มีรสชาติดี ไม่ขม เราก็ต้องรู้ว่า พืชที่เราปลูกนั้นชอบสภาวะแวดล้อมอย่างไร แต่ถ้าเรายังไม่รู้ หรือยังควบคุมไม่ได้ทั้งหมด อย่างน้อยก็ให้คิดว่าสารที่มีรสขมนั้นอาจจะมีสรรพคุณทางยา และมีประโยชน์ต่อร่างกายก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ยังดีกว่าเสี่ยงรับประทานยาฆ่าแมลง ดังนั้นอย่าเพิ่งตัดใจเลิกปลูกผักรับประทานเองนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกผักรับประทานเองนะครับ

Posted on Leave a comment

Celery April 2020

ขึ้นฉ่าย เป็นผักที่นิยมใส่ในอาหารหลากหลายเมนู เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติ ปลูกง่าย จากรูปเป็นการปลูกริมหน้าต่าง ไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง แต่ก็เติบโตจนรับประทานได้ เติบโตช้า แต่สามารถตัดใบไปปรุงอาหารแล้วปล่อยให้งอกใบใหม่ได้เรื่อย ๆ