Posted on Leave a comment

การปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ ที่บ้าน

ผักสลัดวันที่ 32

เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่เริ่มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือคิดอยากจะปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากการปลูกผักสลัดเป็นอันดับแรก เพราะเป็นผักที่ปลูกง่าย ทานง่าย และมักจะทานสด ดังนั้นจึงต้องการให้ปลอดสารเคมี และการปลูกเองก็ช่วยให้สบายใจได้ว่า ผักจะปลอดจากสารเคมีที่เป็นอันตราย ดังนั้น คราวนี้ผมขอเสนอวิธีปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ แบบหนึ่ง นั่นคือแบบน้ำนิ่ง(Kratky method)

วิธีนี้เหมาะกับมือใหม่มาก ๆ เนื่องจากใช้อุปกรณ์น้อย ไม่เปลืองพื้นที่ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าด้วย อุปกรณ์ก็มีดังนี้ สารละลายสำหรับปลูกพืช(สารละลายAB) กล่องปลูก ตะกร้าสำหรับปลูก ฟองน้ำหรืออุปกรณ์ที่ใช้แทนฟองน้ำ หรือจะซื้อชุดสำเร็จรูปดังภาพ

hydroponics set A
ชุดปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ 8 ช่องปลูก แบบ A

ขั้นตอนการปลูก

  1. เพาะเมล็ด

    นำเมล็ดไปแช่น้ำ 1 วัน ก็จะเริ่มมีรากงอกออกมาผักสลัดวันที่ 1

  2. ใส่ลงฟองน้ำ

    นำเมล็ดที่งอกแล้วใส่ลงในฟองน้ำอย่างระมัดระวัง โดยให้เมล็ดจมลงไปในรอยบากไม่เกิน 1 มิลลิเมตร เพราะถ้าใส่ลึกเกินไปอาจทำให้เมล็ดงอกยากและอาจเน่าไปซะก่อนผักสลัดวันที่ 3

  3. ใส่ลงกล่องปลูก

    นำฟองน้ำที่มีเมล็ดที่งอกแล้วใส่ตะกร้า แล้วใส่กล่องปลูก แล้วเติมสารละลายสำหรับปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ (สารละลาย AB) โดยผสมน้ำตามอัตราส่วนที่เหมาะสมตามฉลาก แล้วเติมให้ถึงฟองน้ำ ระวังอย่าให้ฟองน้ำแห้งผักสลัดวันที่ 4

  4. ตกแต่งให้สวยงาม

    ช่วง 2 สัปดาห์แรก ผักยังเล็กมาก กินน้ำน้อย ยังไม่ต้องดูแลอะไร ขอแค่ไม่มีนก หรือสัตว์รบกวนเท่านั้นเอง ระหว่างนี้อาจจะหาอะไรมาตกแต่งให้น่ารักสวยงามก็เพลินดีผักสลัดวันที่ 10

  5. ตรวจระดับสารละลายในกล่อง

    หลังจาก 2 สัปดาห์ ให้ลองตรวจดูระดับสารละลาย ว่าน้อยเกินไปหรือไม่ (ไม่ควรต่ำกว่าครึ่งกล่อง) เพราะรากอาจดูดน้ำไม่ทัน ซึ่งถ้าน้อยเกินไปก็เติมน้ำเปล่าเข้าไปประมาณ 80% ของกล่อง ไม่ใส่จนเต็ม เนื่องจากรากยังต้องการอากาศสำหรับหายใจด้วย ไม่อย่างนั้นรากอาจจะเน่าได้ผักสลัดวันที่ 14

  6. เติมสารละลายสลับกับน้ำเปล่า

    หลังจาก 3 สัปดาห์ ผักต้นใหญ่ขึ้น รากมากขึ้น ดูดน้ำเร็วขึ้น ช่วงนี้อาจจะต้องตรวจดูปริมาณสารละลายในกล่องทุกวัน แล้วเติมสารละลายสลับกับน้ำเปล่า เนื่องจากช่วงนี้ผักจะโตเร็ว ต้องการสารอาหารมากผักสลัดวันที่ 21

  7. เตรียมเก็บเกี่ยว

    เมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ ผักก็มีขนาดใหญ่ พอให้รับประทานได้แล้ว ก็ให้เทสารละลายในกล่องออก แล้วใส่น้ำเปล่าแทน แล้วรอประมาณ 3 วัน เพื่อให้ผักนำสารอาหารที่สะสมไว้ เช่น ไนเตรต ไปใช้ให้เหลือน้อยก่อน แล้วจึงเก็บมารับประทาน สำหรับท่านที่คิดว่าผักยังเล็กอยู่ อาจจะเพราะได้รับแสงน้อย ก็ยังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ ให้เติมน้ำเปล่าไปก่อน พอได้ขนาดที่ต้องการแล้วจึงเปลี่ยนน้ำผักสลัดวันที่ 28

  8. เก็บเกี่ยว

    เมื่อเปลี่ยนน้ำได้ 3 วันแล้ว ก็เก็บมารับประทานได้อย่างสบายใจ ไร้ยาฆ่าแมลง หรือแม้จะเป็นไนเตรตก็น่าจะเหลือน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ของทางยุโรปแล้ว (เนื่องจาก ณ วันที่เขียนนี้ บ้านเรายังไม่มีเกณฑ์เรื่องนี้) อย่างไรก็ตาม เราได้ลองนำผักที่ปลูกตามวิธีที่นำเสนอนี้ไปตรวจปริมาณไนเตรตตกค้าง พบว่าเหลือน้อยกว่าเกณฑ์ทางยุโรป ติดตามรายละเอียดได้ในโพสต์ต่อไปผักสลัดวันที่ 32

ขั้นตอนที่ได้อธิบายไปนั้น เป็นขั้นตอนแบบคร่าว ๆ อาจไม่ต้องทำตามนั้นเป๊ะ ๆ แต่อยากให้เข้าใจว่า ในแต่ละขั้นตอนนั้นทำเพื่ออะไร มีความสำคัญอย่างไร แล้วท่านสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของท่าน และขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกผักรับประทานเองที่บ้านนะครับ

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการปลูกผักสลัด
– ผักสลัดต้องการแสงมาก เป็นเวลานาน 12 ชั่วโมง
– ผักสลัดชอบอากาศเย็นประมาณ 25 องศาเซลเซียส
ดังนั้น ควรวางผักสลัดไว้ในที่แสงสว่างมาก ได้รับแสงทั้งวัน แต่ไม่ร้อนจนผักเหี่ยว ถ้าแสงไม่พอผักสลัดจะยืดสูงทำให้ไม่ค่อยสวย และถ้าปล่อยให้ร้อนจนเหี่ยว อาจทำให้การเติบโตไม่ค่อยดี และอาจมีรสขม
วิธีแก้
สำหรับบ้านที่แสงแดดไม่พอ อาจใช้วิธีเปิดไฟเสริมให้ผักสลัดในช่วงที่แสงแดดน้อยก็ได้ ควรเป็นแสงขาว 6500K 25W หรือใครที่หลีกเลี่ยงสภาพแสงน้อยหรืออากาศร้อนได้ยากจริง ๆ อย่างน้อย 3 วันก่อนเก็บเกี่ยว ผักควรได้รับแสงพอเพียง แต่ไม่ร้อน เพื่อให้ผักมีสีสันสดในน่ารับประทาน และรสชาติดีขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไมผักที่ปลูกมีรสขม แล้วต้องทำอย่างไร?

Posted on Leave a comment

ทำไมผักที่ปลูกมีรสขม แล้วต้องทำอย่างไร?

ผักสลัดวันที่ 28

ผักที่ปลูกมีรสขมคงเป็นประสบการณ์ที่หลายท่านได้พบเจอกันมาบ้าง โดยเฉพาะมือใหม่ที่เพิ่งจะลองปลูกผักรับประทานเอง ด้วยรสขมที่ไม่น่ารับประทานนี้ ทำให้หลายท่านล้มเลิกความคิดที่จะปลูกผักทานเองไปอย่างรวดเร็ว ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงว่า ทำไมผักถึงขม แก้ไขได้หรือไม่ และถ้าแก้ไม่ได้จะทำอย่างไร

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมผักถึงขม ถ้าไม่นับผักที่ขมเพราะแก่ หรือเป็นชนิดที่มีรสขมอยู่แล้ว โดยทั่วไปก็เป็นเพราะว่า สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของผักนั่นเอง เช่น ปริมาณของแสงที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป อุณหภูมิที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป สารอาหารที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป การรบกวนของแมลง หรือจุลินทรีย์ และ อื่น ๆ อีกมาก ความไม่สมดุลของปัจจัยเหล่านี้ทำให้พืชต้องสร้างสารบางอย่างเพื่อที่จะลดผลกระทบที่ไม่ดีจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น และสารเหล่านั้นก็มักจะมีรสขม หรือบางทีก็ฝาด เช่น ถ้าพืชได้รับแสงที่เข้มเกินไป อาจจะทำให้ไหม้ได้ ดังนั้นพืชจะต้องสร้างสารเพื่อป้องกันแสงที่มากเกินไป โดยเฉพาะแสงUV หรือ บางครั้งมีจุลินทรีย์ในระบบปลูกรบกวนการเติบโตของพืช พืชก็อาจจะสร้างสารต้านจุลินทรีย์เหล่านั้น หรือบางที สภาวะแวดล้อมทำให้เกิดอนุมูลอิสระในพืช พืชก็สร้างสารต้านอนุมูลอิสระขึ้นมา ในหลาย ๆ กรณี สารเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ต่อพืชเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อมนุษย์ด้วย จึงมีการสกัดสารเหล่านี้จากพืชเพื่อมาทำยานั่นเอง อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เสมอไป แต่อย่างน้อย การที่เราได้ปลูกผักรับประทานเอง เราก็มั่นใจได้ว่าปลอดจากยาฆ่าแมลง  ซึ่งอันตรายกว่าสารขม ๆ มากมายนัก

สรุปว่าถ้าอยากจะปลูกพืชหรือผักให้มีรสชาติดี ไม่ขม เราก็ต้องรู้ว่า พืชที่เราปลูกนั้นชอบสภาวะแวดล้อมอย่างไร แต่ถ้าเรายังไม่รู้ หรือยังควบคุมไม่ได้ทั้งหมด อย่างน้อยก็ให้คิดว่าสารที่มีรสขมนั้นอาจจะมีสรรพคุณทางยา และมีประโยชน์ต่อร่างกายก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ยังดีกว่าเสี่ยงรับประทานยาฆ่าแมลง ดังนั้นอย่าเพิ่งตัดใจเลิกปลูกผักรับประทานเองนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกผักรับประทานเองนะครับ

Posted on Leave a comment

อันตรายที่แท้จริงในผักไฮโดรโปนิกส์คืออะไร ?

Food photo created by DCStudio – www.freepik.com

เมื่อพูดถึงอันตรายจากผักไฮโดรโปนิกส์ หลายท่านก็คงจะนึกถึงอันตรายจากสารเคมี โดยผู้เขียนจะขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือสารเคมีที่เป็นสารอาหารของพืช กลุ่มที่สองคือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และกลุ่มที่สามคือสารเคมีที่ไม่เกี่ยวกับการปลูกพืชเลย ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้พูดถึงสารเคมีกลุ่มแรกที่เป็นสารอาหารของพืชไปแล้วว่า ทั้งพืชที่ปลูกด้วยดิน และไม่ใช้ดิน(ไฮโดรโปนิกส์)จะได้รับสารอาหารในรูปของสารเคมีที่เป็นสารอาหารในรูปแบบเดียวกัน และได้นำเสนอข้อชี้แจงจากกรมการแพทย์แล้วว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าการสะสมของสารอาหาร เช่น ไนเตรต นั้นเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งได้ ซึ่งทำให้สบายใจไปได้กลุ่มหนึ่ง แต่อีกสองกลุ่มที่เหลือนั้นเป็นอันตรายแน่ ๆ และในบทความนี้จะพูดถึงสารเคมีทั้งสองกลุ่มนี้ว่าเกี่ยวกับผักไฮโดรโปนิกส์อย่างไร และจะหลีกเลี่ยงอันตรายได้อย่างไร

Infographic vector created by macrovector – www.freepik.com

เริ่มด้วยกลุ่มสารเคมีกำจัดศัตรูพืช  แม้ว่าพืชที่ปลูกแบบไม่ใช้ดินจะไม่ต้องใช้สารกำจัดวัชพืช เพราะโอกาสที่จะมีวัชพืชเข้ามาในระบบนั้นมีน้อย และถึงมีก็หยิบออกง่ายกว่าการใช้ยามาก แต่ก็ยังอาจต้องใช้สารกำจัดแมลง(ยาฆ่าแมลง) เพราะในบางโรงเรือน โดยเฉพาะที่เป็นโรงเรือนแบบเปิด ก็มักจะมีแมลงรบกวนไม่ต่างจากการปลูกด้วยดิน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเกษตรกรต้องใช้ยากำจัดหรือไล่แมลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดสารตกค้างได้ และถ้าระยะเวลาเก็บเกี่ยวไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวก่อนเวลา ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็ตาม นั่นเป็นสาเหตุให้อาจมีสารกำจัดแมลงตกค้างที่ต้นหรือใบพืชได้ นอกจากนี้ ถ้าระบบไม่ดีพอ อาจจะเกิดการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงนี้ลงไปในสารละลายที่ใช้ปลูกพืชได้ และพืชอาจจะดูดซึมสารอันตรายเหล่านั้นเข้าไป ซึ่งทำให้การล้างผักไม่ได้ผล แต่ไม่อยากให้กลัวพืชไฮโดรโปนิกส์มากกว่าพืชที่ปลูกด้วยดินนะครับ เพราะพืชที่ปลูกด้วยดินก็มีโอกาสพบปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสารตกค้างเหล่านี้ เราอาจจะต้องซื้อผักจากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือได้มาตรฐานจากหน่วยงานที่ไว้ใจได้ และนำมาล้างให้ดีก่อนนำมารับประทานไม่ต่างจากที่ปลูกด้วยดิน หรือดีกว่าคือปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไว้รับประทานเอง

Ecological disasters flat images set with air water pollution hazardous waste related health problems isolated vector illustration

Car vector created by macrovector – www.freepik.com

สำหรับสารเคมีกลุ่มที่สาม คือสารเคมีที่ไม่เกี่ยวกับการปลูกพืชเลยแต่เป็นอันตราย และมีโอกาสปนเปื้อนในวัสดุปลูก น้ำ หรือสารละลาย แล้วพืชก็ดูดซับมาสะสมไว้ในต้นพืชก่อนมาถึงมือเรา ซึ่งแหล่งที่มาของสารอันตรายประเภทนี้มักจะมาจากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งทิ้งขยะที่มีการจัดการไม่ดีพอ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในดิน หรือแหล่งน้ำ โชคดีที่การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน(ไฮโดรโปนิกส์) ไม่ต้องใช้ดินจึงลดโอกาสได้รับสารพิษปนเปื้อนจากดิน แต่ก็ยังต้องระวังการปนเปื้อนในวัสดุปลูก สารอาหาร และน้ำที่นำมาใช้ การหลีกเลี่ยงก็เป็นลักษณะเดียวกันกับก่อนหน้านี้คือ ซื้อจากแหล่งที่ไว้ใจได้ ได้มาตรฐาน และล้างให้สะอาด แม้การล้างอาจจะไม่ช่วยมากนักเพราะการปนเปื้อนลักษณะนี้มักเป็นการสะสมภายในต้นพืชซึ่งไม่สามารถล้างออกได้ หรือสุดท้ายคือปลูกเอง โดยใช้วัสดุปลูก สารอาหาร และแหล่งน้ำจากแหล่งที่ไว้ใจได้

ผักสลัดริมระเบียง

สรุปว่าอันตรายจากผักไฮโดรโปนิกส์ แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากสารเคมีที่เป็นอาหารที่ใช้ปลูกผักอย่างที่หลายคนเป็นกังวล แต่มาจากสารเคมีที่เป็นยากำจัดแมลง และสารเคมีที่เป็นอันตรายจากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการกำจัดของเสียไม่ได้มาตรฐาน หรือแหล่งทิ้งขยะ แต่ก็ไม่ควรเป็นกังวลมากเกินไป เราหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเหล่านี้ได้จากการซื้อผักจากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือได้มาตรฐานต่าง ๆ ที่เราไว้ใจ แล้วล้างให้ดีเสมือนว่ามีสารพิษตกค้างอยู่ที่ผักไม่ว่าผักจะมาจากแหล่งใดก็ตาม หรือปลูกทานเองซะเลยน่าจะปลอดภัยที่สุดใช่ไหมล่ะครับ สำหรับเรื่องนี้ขอจบเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ

Posted on Leave a comment

ทำไมจึงควรปลูกผักไฮโดรโปนิกส์รับประทานเองที่บ้าน ?

หลังจากที่ได้นำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับอันตรายของผักไฮโดรโปนิกส์กันไปบ้างแล้ว คราวนี้ขอนำเสนอข้อดีของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไว้รับประทานเองที่บ้านกันบ้าง

  1. ปลอดภัย ผักที่ปลูกทานเองย่อมปลอดภัยกว่าผักที่ซื้อมา จากบทความก่อนหน้านี้ที่ได้นำเสนออันตรายจากผักไฮโดรโปนิกส์ไปแล้ว ทุกท่านคงเห็นด้วยว่า อันตรายหลายอย่างนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการปลูก และการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกต้อง ดังนั้น ถ้าเราปลูกเอง ดูแลเอง ก็ย่อมปลอดภัยกว่าอย่างแน่นอน
  2. ประหยัด หลายท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการที่อยากได้ผักเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ผักชีนิดหน่อย หรือต้นหอมเล็กน้อย ก็ต้องอดทานไป หรือ ออกไปซื้อ แต่ว่าต้องซื้อมาเกินกว่าที่ต้องการ และต้องเก็บเข้าตู้เย็นให้ดี เปลืองพื้นที่ในตู้เย็น แล้วพอจะเอามาใช้อีกที ผักก็เสียซะแล้ว ดังนั้น การปลูกผักบางชนิดไว้รับประทานเอง ก็น่าจะช่วยประหยัดเงิน ประหยัดเวลาลงได้
  3. สะดวก การซื้อผักมารับประทาน นอกจากจะต้องซื้อเกินกว่าที่ต้องการอย่างที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้เปลืองเงินแล้ว ยังต้องเสียเวลาออกไปซื้อ เสียเวลาล้างผักให้สะอาด เสียเวลาเก็บ ซึ่งไม่ค่อยสะดวกเลย เมื่อเทียบกับการปลูกไฮโดรโปนิกส์ไว้รับประทานเอง
  4. งานอดิเรก การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดอยู่บ้าง ซึ่งทำให้มันน่าสนุก ไม่น่าเบื่อ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ผักรับประทานด้วย เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบ ต้นทุนไม่สูง การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์บางแบบก็ไม่ได้ใช้พื้นที่มากด้วย
  5. อยากทานผักมากขึ้น สำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่ชอบรับประทานผัก การที่เด็ก ๆ ได้ปลูกผักด้วยตัวเอง ก็อาจจะกระตุ้นความอยากรับประทานผักขึ้นมาบ้างก็ได้ ก็ใครจะไม่อยากชื่นชมกับความสำเร็จของตัวเองกันบ้างล่ะ
  6. ฝึกการเรียนรู้และอดทน การปลูกผักเป็นการฝึกการเรียนรู้และอดทนได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะเด็ก ๆ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่เด็ก ๆ จะทำได้ อีกทั้งเมื่อปลูกเสร็จแล้ว เราก็จะต้องรอประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ผักเติบโตพอให้เรารับประทานได้ และหลายท่านคงเห็นด้วยว่า การเรียนรู้และการอดทนเป็นนิสัยที่สำคัญและต้องฝึกฝน
  7. สวยงาม ปกติแล้ว เราจะรู้สึกดี หรือผ่อนคลายเมื่อเห็นสีเขียวของต้นไม้ หลายคนเชื่อว่า เป็นเพราะในสมัยก่อน ถ้าเราเห็นสีเขียวมาก ๆ มันมักจะหมายถึง แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สมองจะผ่อนคลายจากความกลัวการอดอาหาร และสมองจะช่วยให้เรารู้สึกดีเมื่อเห็นสีเขียว เพื่อให้เราอยู่กับแหล่งอาหารนี้ไปนาน ๆ ด้วยเหตุนี้หลายคนก็เอาต้นไม้ปลูกไว้ในบ้าน หรือบริเวณบ้านเพื่อความสดชื่น สวยงาม และผ่อนคลาย แต่จะดีแค่ไหน ถ้าสิ่งที่ปลูกเพื่อความสดชื่นสวยงามนั้นสามารถนำมารับประทานได้ด้วย และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ก็ทำให้เราปลูกผักในบ้าน หรือริมระเบียงได้ไม่ยากเกินไปนัก

หวังว่าทุกท่านจะได้แรงบันดาลใจในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กันบ้างนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ

Posted on Leave a comment

ผักไฮโดรโปนิกส์ ปลูกด้วยสารเคมีล้วน ๆ จริงหรือไม่ ?

Designed by Freepik

เมื่อหลายปีก่อนหลายคนเชื่อว่า ผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดภัย เป็นผักปลอดสารพิษ แต่ต่อมาก็มีการพูดกันว่า ผักไฮโดรโปนิกส์อันตรายเพราะว่าปลูกด้วยสารเคมีล้วน ๆ ซึ่งก็ปลูกด้วยสารเคมีจริง ๆ แต่นั่นเป็นความจริงเพียงบางส่วน เรามาดูว่ามีความจริงอะไรอีกบ้าง

ขอเริ่มด้วยคนไทยส่วนใหญ่ใช้คำว่า “สารเคมี” ในความหมายที่เป็นสารสังเคราะห์ ไม่ใช่สารธรรมชาติ และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากสารต่าง ๆ ในโลกล้วนเป็นสารเคมีทั้งสิ้น เช่น น้ำ ก็เป็นสารเคมี มีสูตรทางเคมีคือ H2O และไม่ว่าน้ำจะมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วนำมาทำให้บริสุทธิ์ หรือสังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลอง ถ้าสุดท้ายแล้วมีสูตรทางเคมีเหมือนกัน ก็เป็นน้ำที่เหมือนกันทุกประการ และเป็นสารตัวเดียวกันด้วย ดังนั้นขอให้เข้าใจก่อนว่า ความเป็นอันตรายของสารนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า สารนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้นมา แต่มันขึ้นกับชนิดของสาร และปริมาณของสารมากกว่า ว่าเป็นอันตรายหรือไม่ 

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรารู้ว่าสารอาหารที่พืชสามารถดูดซึมจากดินแล้วนำไปใช้ในการเจริญเติบโตนั้น มีสูตรทางเคมีว่าอย่างไร เราก็สามารถเตรียมสารชนิดเดียวกันไว้ในสารละลายให้กับพืชพร้อมที่จะดูดซึมไปใช้ได้เลย เช่น ไนโตรเจน(N) เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช และเรารู้ว่า พืชจะดูดซึมไนโตรเจนในรูปแบบของ แอมโมเนี่ยม (Ammonium: NH4+) หรือ ไนเตรต (Nitrate: NO3) เราก็สามารถเตรียมสารชนิดนี้ให้กับพืชได้เลย เช่น อาจจะเตรียมจากสารเคมีที่ชื่อว่า โพแทสเซี่ยมไนเตรต(Potassium Nitrate: KNO3) โดยการใส่สารโพแทสเซี่ยมไนเตรตนี้ลงในน้ำ เมื่อสารนี้ละลายน้ำแล้ว เราก็จะได้ โพแทสเซี่ยม ไอออน(K+) และ ไนเตรต (NO3) ซึ่งทั้งสองตัวก็เป็นสารที่พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้ และถึงแม้ว่าสาร ไนเตรตในดิน กับในสารละลายสำหรับปลูกพืชจะมีที่มาต่างกัน แต่สำหรับพืชแล้ว มันไม่ต่างกันเลย และไม่ใช่แค่ไนโตรเจนเท่านั้น สารอาหารตัวอื่น ๆ ที่พืชต้องการก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

สรุปว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และการปลูกในดิน ผักก็ได้รับสารอาหารในรูปของสารเคมีชนิดเดียวกัน เพียงแต่มีที่มาต่างกัน ดังนั้น จากคำถามที่ว่า พืชไฮโดรโปนิกส์ปลูกด้วยสารเคมีใช่หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าใช่ แล้วอันตรายหรือไม่ ในเบื้องต้นก็ต้องตอบว่า มันก็ไม่มากไปกว่าพืชที่ปลูกด้วยดิน แล้วผักไฮโดรโปนิกส์นั้นปลอดภัยไร้กังวลเลยหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่ ยังมีความกังวลในเรื่องของความเข้มข้นของสารอาหาร การสะสมของสารอาหารในพืชผัก และการปนเปื้อนในสารละลาย เราจะนำเสนอข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ในโอกาสต่อไป