Posted on Leave a comment

ผักไฮโดรโปนิกส์ มีไนเตรตสะสมจนเป็นอันตรายจริงหรือไม่ ?

เมื่อพูดถึงผักไฮโดรโปนิกส์ หลายคนจะนึกถึงการสะสมของไนเตรต ซึ่งเชื่อว่าอาจก่อให้เกิดมะเร็ง หรือเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งขึ้นมาได้ ก่อนอื่นต้องเท้าความก่อนว่า ในบทความก่อนหน้านี้เราได้เคยเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไนเตรตไปบ้างแล้ว ก็คือ พืชจะดูดซับไนโตรเจนในรูปของไนเตรต ซึ่งทั้งพืชที่ปลูกแบบใช้ดิน หรือไม่ใช้ดิน(ไฮโดรโปนิกส์) ก็ได้รับไนโตรเจนในรูปของไนเตรตเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือความเข้มข้นของไนเตรตที่พืชได้รับ เนื่องจากการปลูกพืชโดยใช้ดิน ส่วนใหญ่แล้วพืชจะได้รับไนเตรตจากการที่จุลินทรีย์บางชนิดที่อยู่ในดินค่อย ๆ สร้างไนเตรตให้กับดิน แล้วพืชก็ค่อย ๆ ดูดซึม แต่ในสารละลายสำหรับปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์นั้น จะมีไนเตรตเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงมีโอกาสที่พืชจะดูดซึมได้รวดเร็ว ทำให้หลายคนเป็นกังวลว่า พืชจะได้รับไนเตรตมากเกินไปหรือไม่ และจะสะสมในพืชมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่

ในเรื่องนี้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (ข้อมูลจาก เว็บไซต์ของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ตามลิงค์ที่ให้ไว้ด้านล่าง) ได้แจ้งว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรืองานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่า การบริโภคผักไฮโดรโปรนิกส์ทำให้เป็นโรคมะเร็ง และการตกค้างของไนเตรตก็มีทั้งในผักที่ปลูกด้วยดิน และปลูกแบบไม่ใช้ดิน(ไฮโดรโปนิกส์) ส่วนความเข้มข้นในการสะสมนั้น นอกจากจะขึ้นกับปริมาณของไนเตรตที่พืชได้รับแล้ว ยังขึ้นกับ ชนิดของพืช สภาพแวดล้อมและฤดูกาลในการปลูกพืช ซึ่งพื้นที่เขตร้อนนั้น แสงแดดจะทำให้สารไนเตรตสลายตัวได้รวดเร็ว นอกจากนี้ ทางสถาบันยังได้แนะนำวิธีช่วยลดไนเตรตสำหรับผู้ที่ยังเป็นกังวลอีกด้วยว่า การลดไนเตรตในผักก่อนนำมารับประทานทำได้ด้วยการนำผักไปต้มในน้ำเดือด หรือนึ่งนาน 10 นาที หรือการแช่ผักในน้ำเปล่า น้ำเกลือและด่างทับทิม ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยให้ค่าไนเตรตลดลงได้เช่นกัน

สรุปว่าการสะสมของไนเตรตในพืชผักนั้น มีได้ทั้งแบบที่ปลูกแบบใช้ดิน และไม่ใช้ดิน(ไฮโดรโปนิกส์) แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าไนเตรตที่สะสมในผักนั้นมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้สำหรับท่านที่ยังเป็นกังวลก็ขอแนะนำให้นำผักไปต้มหรือนึ่งนาน 10 นาที โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนแนะนำให้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์รับประทานเองจะสะดวกกว่า สำหรับผักที่รับประทานสดอย่างเช่นผักสลัด แนะนำให้เปลี่ยนน้ำที่ปลูกให้เป็นน้ำเปล่า 1 – 3 วัน (ขึ้นกับปริมาณแสง) ก่อนที่จะเก็บมาล้างฝุ่นและรับประทาน เพื่อให้เวลาพืชนำไนเตรตที่สะสมไว้ไปใช้ให้เหลือน้อย ๆ ก่อน ส่วนผักที่ต้องผ่านความร้อนอยู่แล้ว ก็เก็บมาล้างแล้วทำอาหารได้เลย เหตุที่แนะนำให้ปลูกเองดีกว่าเพราะถึงแม้ว่าไนเตรตจะยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าเป็นอันตราย แต่ยังมีสารอื่นที่อาจจะตกค้างและเป็นอันตรายแน่ ๆ นั่นก็คือ พวกสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งถ้าปลูกเอง เราจะมั่นใจได้ว่าผักที่เราปลูกปลอดสารกำจัดศัตรูพืช แต่หากจำเป็นต้องฉีดยากำจัดศัตรูพืชเอง เราก็จะรู้แน่ชัดว่าเราต้องเก็บเกี่ยวเมื่อไรถึงจะปลอดภัย สำหรับเรื่องนี้ขอจบไว้เท่านี้ สวัสดีครับ

ที่มา