Posted on Leave a comment

การปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ ที่บ้าน

ผักสลัดวันที่ 32

เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่เริ่มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือคิดอยากจะปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากการปลูกผักสลัดเป็นอันดับแรก เพราะเป็นผักที่ปลูกง่าย ทานง่าย และมักจะทานสด ดังนั้นจึงต้องการให้ปลอดสารเคมี และการปลูกเองก็ช่วยให้สบายใจได้ว่า ผักจะปลอดจากสารเคมีที่เป็นอันตราย ดังนั้น คราวนี้ผมขอเสนอวิธีปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ แบบหนึ่ง นั่นคือแบบน้ำนิ่ง(Kratky method)

วิธีนี้เหมาะกับมือใหม่มาก ๆ เนื่องจากใช้อุปกรณ์น้อย ไม่เปลืองพื้นที่ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าด้วย อุปกรณ์ก็มีดังนี้ สารละลายสำหรับปลูกพืช(สารละลายAB) กล่องปลูก ตะกร้าสำหรับปลูก ฟองน้ำหรืออุปกรณ์ที่ใช้แทนฟองน้ำ หรือจะซื้อชุดสำเร็จรูปดังภาพ

hydroponics set A
ชุดปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ 8 ช่องปลูก แบบ A

ขั้นตอนการปลูก

  1. เพาะเมล็ด

    นำเมล็ดไปแช่น้ำ 1 วัน ก็จะเริ่มมีรากงอกออกมาผักสลัดวันที่ 1

  2. ใส่ลงฟองน้ำ

    นำเมล็ดที่งอกแล้วใส่ลงในฟองน้ำอย่างระมัดระวัง โดยให้เมล็ดจมลงไปในรอยบากไม่เกิน 1 มิลลิเมตร เพราะถ้าใส่ลึกเกินไปอาจทำให้เมล็ดงอกยากและอาจเน่าไปซะก่อนผักสลัดวันที่ 3

  3. ใส่ลงกล่องปลูก

    นำฟองน้ำที่มีเมล็ดที่งอกแล้วใส่ตะกร้า แล้วใส่กล่องปลูก แล้วเติมสารละลายสำหรับปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ (สารละลาย AB) โดยผสมน้ำตามอัตราส่วนที่เหมาะสมตามฉลาก แล้วเติมให้ถึงฟองน้ำ ระวังอย่าให้ฟองน้ำแห้งผักสลัดวันที่ 4

  4. ตกแต่งให้สวยงาม

    ช่วง 2 สัปดาห์แรก ผักยังเล็กมาก กินน้ำน้อย ยังไม่ต้องดูแลอะไร ขอแค่ไม่มีนก หรือสัตว์รบกวนเท่านั้นเอง ระหว่างนี้อาจจะหาอะไรมาตกแต่งให้น่ารักสวยงามก็เพลินดีผักสลัดวันที่ 10

  5. ตรวจระดับสารละลายในกล่อง

    หลังจาก 2 สัปดาห์ ให้ลองตรวจดูระดับสารละลาย ว่าน้อยเกินไปหรือไม่ (ไม่ควรต่ำกว่าครึ่งกล่อง) เพราะรากอาจดูดน้ำไม่ทัน ซึ่งถ้าน้อยเกินไปก็เติมน้ำเปล่าเข้าไปประมาณ 80% ของกล่อง ไม่ใส่จนเต็ม เนื่องจากรากยังต้องการอากาศสำหรับหายใจด้วย ไม่อย่างนั้นรากอาจจะเน่าได้ผักสลัดวันที่ 14

  6. เติมสารละลายสลับกับน้ำเปล่า

    หลังจาก 3 สัปดาห์ ผักต้นใหญ่ขึ้น รากมากขึ้น ดูดน้ำเร็วขึ้น ช่วงนี้อาจจะต้องตรวจดูปริมาณสารละลายในกล่องทุกวัน แล้วเติมสารละลายสลับกับน้ำเปล่า เนื่องจากช่วงนี้ผักจะโตเร็ว ต้องการสารอาหารมากผักสลัดวันที่ 21

  7. เตรียมเก็บเกี่ยว

    เมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ ผักก็มีขนาดใหญ่ พอให้รับประทานได้แล้ว ก็ให้เทสารละลายในกล่องออก แล้วใส่น้ำเปล่าแทน แล้วรอประมาณ 3 วัน เพื่อให้ผักนำสารอาหารที่สะสมไว้ เช่น ไนเตรต ไปใช้ให้เหลือน้อยก่อน แล้วจึงเก็บมารับประทาน สำหรับท่านที่คิดว่าผักยังเล็กอยู่ อาจจะเพราะได้รับแสงน้อย ก็ยังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ ให้เติมน้ำเปล่าไปก่อน พอได้ขนาดที่ต้องการแล้วจึงเปลี่ยนน้ำผักสลัดวันที่ 28

  8. เก็บเกี่ยว

    เมื่อเปลี่ยนน้ำได้ 3 วันแล้ว ก็เก็บมารับประทานได้อย่างสบายใจ ไร้ยาฆ่าแมลง หรือแม้จะเป็นไนเตรตก็น่าจะเหลือน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ของทางยุโรปแล้ว (เนื่องจาก ณ วันที่เขียนนี้ บ้านเรายังไม่มีเกณฑ์เรื่องนี้) อย่างไรก็ตาม เราได้ลองนำผักที่ปลูกตามวิธีที่นำเสนอนี้ไปตรวจปริมาณไนเตรตตกค้าง พบว่าเหลือน้อยกว่าเกณฑ์ทางยุโรป ติดตามรายละเอียดได้ในโพสต์ต่อไปผักสลัดวันที่ 32

ขั้นตอนที่ได้อธิบายไปนั้น เป็นขั้นตอนแบบคร่าว ๆ อาจไม่ต้องทำตามนั้นเป๊ะ ๆ แต่อยากให้เข้าใจว่า ในแต่ละขั้นตอนนั้นทำเพื่ออะไร มีความสำคัญอย่างไร แล้วท่านสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของท่าน และขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกผักรับประทานเองที่บ้านนะครับ

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการปลูกผักสลัด
– ผักสลัดต้องการแสงมาก เป็นเวลานาน 12 ชั่วโมง
– ผักสลัดชอบอากาศเย็นประมาณ 25 องศาเซลเซียส
ดังนั้น ควรวางผักสลัดไว้ในที่แสงสว่างมาก ได้รับแสงทั้งวัน แต่ไม่ร้อนจนผักเหี่ยว ถ้าแสงไม่พอผักสลัดจะยืดสูงทำให้ไม่ค่อยสวย และถ้าปล่อยให้ร้อนจนเหี่ยว อาจทำให้การเติบโตไม่ค่อยดี และอาจมีรสขม
วิธีแก้
สำหรับบ้านที่แสงแดดไม่พอ อาจใช้วิธีเปิดไฟเสริมให้ผักสลัดในช่วงที่แสงแดดน้อยก็ได้ ควรเป็นแสงขาว 6500K 25W หรือใครที่หลีกเลี่ยงสภาพแสงน้อยหรืออากาศร้อนได้ยากจริง ๆ อย่างน้อย 3 วันก่อนเก็บเกี่ยว ผักควรได้รับแสงพอเพียง แต่ไม่ร้อน เพื่อให้ผักมีสีสันสดในน่ารับประทาน และรสชาติดีขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไมผักที่ปลูกมีรสขม แล้วต้องทำอย่างไร?